ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The code of Hammurabi) จารึกกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก

 

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The code of Hammurabi)
จารึกกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก

โดย นภัสสร ชุมศรี
               "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Hunam being is social animal)" เป็นคำกล่าวของอริสโตเติลนักปราชญ์ชาวกรีก ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นจะมีการอาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน จะไม่อยู่ตามลำพังคนเดียว อาจกล่าวได้ว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสังคมขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่นั้น ย่อมมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว เจ้านายกับลูกจ้าง ผู้มีอำนาจกับทาส เป็นต้นฉะนั้นหากมีสิ่งที่สามารถควบคุมคนในสังคมปฎิบัติต่อกันได้อย่างถูกต้อง เท่าเทียม และยุติธรรม ก็จะให้ทำให้เกิดสันติ และความสงบในสังคมขึ้น
                พระเจ้าฮัมมูราบี (1810-1750 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรบาบิโลเนีย เป็นชาวอโมไรท์( Amorite) ในอารายธรรมเมโสโปเตเมีย ได้รวบรวมอาณาจักรได้เป็นหนึ่งเดียว พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าการที่ผู้คนอยู่รวมกันเป็นสังคมเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมาย จึงได้รวบรวมกฎหมายที่มีการใช้อยู่ในสังคมอยู่แล้วนั้นขึ้นมาเป็น "ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี"
                ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (1792-1750 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นกฎหมายที่พระเจ้าฮัมมูราบีได้รวบรวมขึ้น เพื่อใช้ควบคุมคนในอาณาจักรเพื่อให้ได้รับความยุติธรรม และได้รับผลของการกระทำมากที่สุด เป็นกฎหมายที่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก โดยเป็นการใช้หลัก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน (An eye for an eye, and a tooth for a tooth)  ซึ่งหมายความว่า หากผู้ใดปฏิบัติตนผิดกฎหมายเช่นไร ก็จะได้รับบทลงโทษเช่นนั้น มีประมวลกฎหมายทั้งหมด 282 มาตรา แบ่งออกเป็น 3 หมวด ซึ่งได้แก่ 
       1. กฎหมายมหาชน
                 ยุคสมัยจักรวรรดิบาบิโลนได้มีการแบ่งวรรณะของประชากรออกเป็น 3 พวก คือ
                -ชนชั้นสูง (Awellu) หรือชนชั้นปกครอง คือ พวกข้าราชการ
                -ชนชั้นกลาง คือ ประชาชนธรรมดา (Muskinu) หรือเสรีชน (Freeman)
                -ชนชั้นล่าง (Ardu) หรือทาส 
                  ซึ่งเมื่อมีการแบ่งชนชั้นประชาชนเช่นนี้ก็จะทำให้การบัญญัติกฎหมายสอดคล้องไปด้วย เช่น หากชนชั้นล่างกระทำผิดต่อชนชั้นสูง ชนชั้นสูงจะสามารถลงโทษชนชั้นล่างอย่างที่ชนชั้นสูงถูกกระทำได้ แต่หากชนชั้นสูงกระทำความผิดต่อชนชั้นล่างชนชั้นล่างจะไม่สามารถแก้แค้นชนชั้นสูงอย่างที่ชนชั้นสูงกระทำได้ จะทำได้ก็เพียงแต่ให้ชนชั้นสูงเสียค่าปรับหรือค่าสินไหมทดแทนให้เท่านั้น และการเปลี่บนสถานะของชนชั้นเกิดขึ้นได้ในกรณีทาสซึ่งเป็นชนชั้นล่างอาจไถ่ตัวเองให้เป็นเสรีชนจากนายเงินซึ่งเป็นเจ้าของทาสนั้นได้ อย่างไรก็ตาม หญิงซึ่งเป็นเสรีชนหากแต่งงานกับชายซึ่งเป็นทาส บุตรที่เกิดขึ้นมาจะเป็นเสรีชน และทรัพย์สินกึ่งหนึ่ง จะตกเป็นของฝ่ายหญิง
       2. กฎหมายเอกชน ได้กำหนดให้เอกชนสามารถมีสิทธิในที่ดินได้ รวมทั้งการทำสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน เช่น สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย เป็นต้น อาจจำแนกกฎหมายเอกชนออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้
                1) กฎหมายเรื่องเช่าอสังหาริมทรัพย์
                2) กฎหมายเรื่องเช่าปศุสัตว์
                3) กฎหมายเรื่องชลประทาน
                4) กฎหมายเรื่องการจ้างแรงงาน
                5) กฎหมายเรื่องครอบครัว
                6) กฎหมายเรื่องนิติกรรมสัญญา
        3. กฎหมายอาญา โดยกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย มีดังนี้
                1) ถ้าบุคคลใดทำลายดวงตาของอีกผู้หนึ่ง ดวงตาของบุคคลนั้นจะถูกทำลายเช่นกัน
                2) ถ้าชายคนหนึ่งเป็นเหตุให้ชายอีกคนสูญเสียลูกนัยน์ตา ลูกนัยน์ตาของชายอีกคนนั้นต้องถูกควักออกมา
                3) บุคคลใดทำให้บุตรสาวของผู้อื่นถึงแก่ความตาย บุตรสาวของตนก็จะถูกลงโทษให้ถึงแก่ความตายด้วย
                4) ถ้าบ้านพังตกลงมาทับเจ้าของบ้านตาย ผู้สร้างต้องรับผิดชดใช้ด้วยชีวิต
                5) ช่างก่อสร้างบ้านเรือนที่ทำให้บุตรของเจ้าของบ้านถึงแก่ความตายโดยประมาท บุตรของตนจะถูกลงโทษให้ถึงแก่ความตายเช่นกัน
                6) เจ้าหน้าที่ทำให้บุตรของลูกหนี้ซึ่งมาอยู่กับตนในฐานะเป็นผู้ขัดหนี้ (Mancipium) ถึงแก่ความตาย บุตรของเจ้าหนี้จะถูกลงโทษให้ถึงแก่ความตายด้วย (กำธร กำประเสริฐ และสุเมธ จานประดับ, 2540)
                อาจกล่าวได้ว่าประมวลกฎหมายฮัมมูราบีนั้นมีการลงโทษที่เรียกได้ว่ามีความโหดเหี้ยมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้แล้วประมวลกฎหมายฉบับนี้จะใช้หลักการถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าผิด (innocent until proven guilty.)” ถือได้ว่าหลักการนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่ทันสมัยเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นฐานของกฎหมายในเวลาต่อมาด้วย
                ตัวอย่างการตัดสินคดีและการลงโทษ โดยใช้ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี เช่น ค่าแพทย์สำหรับการรักษาบาดแผลรุนแรง คือ สำหรับชนชั้นสูง 10 เชเกล (shekels) , สำหรับชนชั้นกลาง 5 เชเกล และสำหรับทาส 2 เชเกล หากแพทย์ทำทุจริตต่อหน้าที่ ทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยร่ำรวย แล้วผู้ป่วยถึงแก่ความตายแพทย์ผู้นั้นจะต้องถูกตัดมือ แต่หากเป็นการผ่าตัดให้ทาสนั้นจะเป็นเพียงการที่ให้แพทย์ชดใช้ทางการเงินเท่านั้น (History, 2020)
                หลักศิลาจารึกประมวลกฎหมายฮัมมูราบี มีลักษณะเป็นแท่งหินบะซอลต์สีดำ (basalte) ที่สลักด้วยอักษรคูนิฟอร์มหรืออักษรลิ่ม โดยมีความสูง 8 ฟุต หรือ 2.25 เมตร ความกว้าง 79 เซนติเมตร ความลึก 47 เซนติเมตร โดยสร้างขึ้นไว้ในวิหารของเทพมาร์ดุก (Maduk) ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดของจักรวรรรดิ (วรารักษ์ เฉลิมพันธุ์ศักดิ์, 2560) และในปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (Musée du Louvre, 2021) โดยรูปที่แกะสลักบนการสลักอักษรคูนิฟอร์มนั้นเป็นการสลักเทพเจ้า คือ พระอาทิตย์ที่ชาวบาบิโลเนียนถือว่าเป็นพระเจ้าแห่งความยุติธรรมกำลังประทานประมวลกฎหมายให้แก่พระเจ้าฮัมมูราบี (กำธร กำประเสริฐ และสุเมธ จานประดับ, 2564) ซึ่งถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสในปี ค.. 1901-1902 อยู่ที่ Susa ในดินแดนประเทศอิรักในปัจจุบัน
                                                            

ภาพการขุดค้นพบแท่งหินประมวลกฎหมายฮัมมูราบี เมื่อ ค.ศ 1901

                                             
 พระเจ้าฮัมมูราบีได้รับประมวลกฎหมายจากพระเจ้ามาร์ดุก


จารึกประมวลกฎหมายฮัมมูราบี


ตัวอักษรคูนิฟอร์มบนจารึกประมวลกฎหมายฮัมมูราบู
                                    ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่ง    
                                  

            จะเห็นได้ว่าการอยู่รวมกันในสังคมของมนุษย์ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น จะมีการสรรสร้างสิ่งที่นำมาใช้ในสังคมส่วนรวมอยู่เสมอ มีการคิดค้นสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้สังคมเกิดการพัฒนาจนเกิดความเจริญงอกงามมากยิ่งขึ้น แม้ว่าประมวลกฎหมายฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการแบ่งชนชั้นทางสังคม เนื่องจากบทลงโทษที่สร้างขึ้นนั้นยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นอยู่ และถึงแม้ว่าวัฒนธรรมที่ได้มีการสร้างสรรค์ขึ้นในอดีตนั้นไม่ได้นำมาใช้ในสังคมปัจจุบัน แต่ก็เป็นรากฐาน เป็นสิ่งที่ผู้คนจะนำมาขบคิด เลือกสรร พัฒนา ปรับใช้ให้เข้ากับสังคมและยุคสมัยอยู่เสมอ


สื่อวิดีทัศน์ เรื่อง The code of Hammurabi
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=QEko2CMykuk

บรรณานุกรม

กำธร กำประเสริฐ และสุเมธ จานประดับ. (2540). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก.
          สืบค้น   เมื่อ
1 สิงหาคม 2564. จาก http://old-book.ru.ac.th/e-book/l/LW103(50)/LW103-
          10.
pdffbclid=IwAR2mYTl9aTCg0TSDwTcyjH3BifNfEqzy29fS5qVJQwSrA7HCJKsJASsApUc

วรารักษ์ เฉลิมพันธุ์ศักดิ์. (2560). หน่วยที่ 13 จักรวรรดิก่อนการขยายตัวของจักรวรรดินิยมตะวันตก. สืบค้น เมื่อ 1 สิงหาคม   2564. จาก https://www.stou.ac.th/Schoolnew/polsci/UploadedFile/82227-     13.pdf

History. (2020). Code of Hammurabi. 1 August 2021, Retrieved from https://www.history.
          com
/topics/ancient-history/hammurabi

Musée du Louvre. (2021). Louvre collections. 1 August 2021, Retrieved from https://collections.

          louvre.fr/en/ark:/53355/cl010174436

 


Comments

Popular posts from this blog

BTS และพลังแห่งการขับเคลื่อนทางสังคมในยุคปัจจุบัน

ศิลปะบาโรก (baroque) ความงามที่ยิ่งใหญ่ของอารยธรรมสมัยใหม่