BTS และพลังแห่งการขับเคลื่อนทางสังคมในยุคปัจจุบัน

BTS และพลังแห่งการขับเคลื่อนทางสังคมในยุคปัจจุบัน

          ในยุคปัจจุบันท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เกิดการผลิตและสร้างสรรค์ผลงานออกมาสู่สังคมอย่างมากมาย มีประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียที่มีอุตสาหกรรมเคป๊อป (K-POP) เป็นอุตสาหกรรมบันเทิงที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศ นั่นคือ เกาหลีใต้ โดยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการวางแผนจากรัฐบาล และร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมี KOCCA (Korea Creative Content Agency ) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนี้รัฐบาลก็ได้มีการสนับสนุนให้บริษัทหรือค่ายเพลงสร้างศิลปินขึ้นมา โดยมีการวางแผนและการจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ในช่วงฝึก จนกระทั่งถึงการเปิดตัวสู่สาธารณชน
        การสร้างสรรค์ผลงานทางดนตรีและศิลปะในยุคปัจจุบันนั้นไม่เพียงแต่เป็นการสร้างสรรค์เพื่อความสุนทรีย์ทางอารมณ์เท่านั้น แต่ศิลปินได้มีการสอดแทรกประเด็นทางสังคม จิตวิทยา เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นลงไปด้วย รวมไปถึงศิลปะในยุคสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นกรีก หรือฟื้นฟูศิลปวิทยา ที่จะแสดงออกมาในบทเพลงหรือมิวสิควิดีโอ โดยประเทศเกาหลีใต้ก็มีวงศิลปินวงหนึ่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถทางด้านดนตรีและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา นั่นคือ วง BTS


             BTS เป็นวงศิลปินนักร้อง สัญชาติเกาหลีใต้ โดยในช่วงแรกของการเปิดตัวชื่อวงคือ Bangtans Boys หรือ บังทันโซยอนดัน (ภาษาเกาหลี) หมายถึง Bulletproof Boy Scouts (เด็กผู้ชายในเกราะกันกระสุน) ต่อมาในปี 2017 ได้เปลี่ยนความหมายของชื่อเป็น Beyond the Scene  หมายถึง วัยรุ่นผู้พัฒนาสู่ความใฝ่ฝันอย่างไม่หยุดยั้งและไม่ยึดติดกับสถานภาพปัจจุบัน ก่อตั้งโดย Big Hit Entertainment  มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2013 มีสมาชิกทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย RM (Kim Nam Joon), Jin (Kim Seok Jin), Suga (Min Yoon Gi), J-hope (Jung Ho Seok), Jimin (Park Ji Min), V (Kim Tae Hyung) และJungkook (Jeon Jung Kook ) และมีแฟนคลับที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "Army"  ได้มีรายงานของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ซึ่งมีการประเมินว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้สูงถึง 1.7 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 43,000 ล้านบาท จากการเปิดตัวของเพลง Dynamite ในเดือนสิงหาคม ปี 2020 (วอยซ์ออนไลน์, 2563)
                ผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมาก คือ อัลบั้ม Love Yourself: Tear เป็นอัลบั้มเปิดตัวอันดับ 1 ในชาร์ต Billboard Hot 200 ในปี 2018 ซึ่งเป็นการจัดอันดับความนิยมของอัลบั้มเพลงในอเมริกา ก่อนที่อัลบั้มถัดจากนั้นของ BTS ไม่ว่าจะเป็น อัลบั้ม Love Yourself: Answer, Map of the Soul: Persona, Map of the Soul: 7 และ BE ก็ได้เปิดตัวอันดับ 1 จึงทำให้ BTS สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการมีอัลบั้มเปิดตัวที่ 1 ติดต่อกัน 5 อัลบั้ม (ไทยรัฐออนไลน์, 2564)
                โดยแนวเพลงของวง BTS นั้นจะมีความหลากหลายแตกต่างกันออกไปในแต่ละเพลงและอัลบั้ม มีการสร้างสรรค์แนวเพลงที่มีความหลากหลายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงแบบ Rap, Hip-Hop, R&B, POP, SOUL ,FUNK, Ballad  เป็นการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ ทัศนติในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่มีความแปลกใหม่อยู่เสมอ ไม่หยุดอยู่กับที่ เป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของยุคศตวรรษที่ 20 ถึงปัจจุบัน เนื่องจากความเจริญทางด้านดนตรีจึงทำให้ลักษณะของดนตรีศตวรรษนี้มีหลายรูปแบบ สอดคล้องกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยในการสร้างสรรค์ผลงานของ BTS นั้น ได้สอดแทรกประเด็นที่สำคัญเข้าไปด้วย ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นประเด็นด้านงานศิลปะ ประเด็นทางการเมือง ประเด็นวัฒนธรรม และประเด็นจิตวิทยา
                โดยในส่วนของประเด็นงานศิลปะนั้นอาจไม่ได้ถ่ายทอดออกมาผ่านเนื้อเพลงโดยตรง แต่จะสังเกตเห็นได้จากในมิวสิควิดีโอที่มีการแสดงให้เห็นถึงจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ในสมัยกรีกและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งจะเห็นได้จากในเพลง Blood Sweat And Tear และจากการแสดงในงาน 2019 Melon Music Awards ที่มีการแสดงให้เห็นศิลปะสมัยกรีกอย่างเห็นได้ชัดในบทเพลง Dionysus


   มิวสิควิดีโอ เพลง Blood Sweat & Tears

ภาพ The Fall of the Rebel Angels ปัจจุบันอยู่ที่ Royal Museums of Fine Arts of Belgium


ภาพ The Lament of Icarus
ที่มา : https://becomewings.tumblr.com/post/188833116990/lament-for-icarusi-stretched-my-foot-out-into-the 
ประติมากรรม Pietà
การแสดงเพลง 
Dionysus ในงานประกาศรางวัล 2019 Melon Music Awards
               ในบทเพลงของ BTS จะมีการสอดแทรกประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมอยู่เสมอ ตั้งแต่ประเด็นทางสังคมที่เป็นระดับเล็ก ๆ จนไปถึงระดับโลก โดยในช่วงแรกหลังจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ประเด็นในบทเพลงจะชูให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของนักเรียนในวัยมัธยม ชีวิตของวัยรุ่น สิ่งที่วัยรุ่นต้องพบเจอจากการคาดหวังทางสังคม ปัญหาในครอบครัว  และปัญหาในโรงเรียน การกลั่นแกล้งในโรงเรียน ในระดับใหญ่ขึ้นมาก็จะกล่าวถึง ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ปัญหาที่พบเจอในการทำงาน โครงสร้างทางสังคมที่มีความไม่ยุติธรรม ความรัก ความไม่จริงใจ ความหลอกลวง  นอกจากการชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมแล้ว ก็มีการให้กำลังให้วัยรุ่นกล้าที่จะทำในสิ่งที่ต้องการ ไม่ติดอยู่ในกรอบ ให้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเราต้องการ เพราะยังไงก็เป็นชีวิตของเรา รู้จักที่จะเอาชนะ และรู้จักที่จะยอมแพ้ ซึ่งมีคำกล่าวของสมาชิกในวงเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง คือ คำกล่าวของคิมนัมจุนที่กล่าวว่า “We are not political figures, but as they say, everything is political eventually. Even a pebble can be political.” หมายถึง เราไม่ใช่บุคคลสำคัญทางการเมือง แต่อย่างที่พวกเขาพูด ในที่สุดทุกอย่างก็เป็นเรื่องการเมือง แม้แต่ก้อนกรวดก็สามารถเป็นการเมืองได้” (Rebecca Davis, 2020) ผลงานเพลง 518-062 ของ Gloss (ชื่อของ Suga สมัยทำวง D-Town) ซึ่งประกอบขึ้นจาก "5.18" หมายถึง 18 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่เกิดการจลาจลของกวางจู และ"062" คือรหัสพื้นที่ของกวางจู เพลงนี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนในหวางจูประชาชนในกวางจู ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1980 ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ถึง 27 พฤษภาคม (Suganotes, 2021)
                จะเห็นได้ว่าการมีส่วนร่วมทางสังคมเช่นนี้ของBTS เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้ในความเป็นไปของสังคมและการเมือง กล้าที่จะใช้เสียงของตัวเองออกมาแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้อยู่เสมอ ซึ่งจะเห็นได้จากสิ่งที่ BTS ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานส่วนหนึ่งนั้นมาจากหนังสือที่สมาชิกในวงมักจะอ่านและปรัชญาต่าง ๆ เช่น หนังสือ Into The Magic Shop ที่จองกุกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง Magic Shop เป็นต้น
              ในส่วนของวัฒนธรรมนั้น BTS มักจะมีการนำดนตรีพื้นเมืองของเกาหลีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงในหลายผลงานเพลง มีการนำบทเพลงพื้นบ้านของเกาหลีมา Remake อีกครั้งเพื่อให้บทเพลงเก่านั้นจะยังคงอยู่ และเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น นั่นคือ เพลง Arirang โดยเนื้อหาของเพลงนั้นจะกล่าวถึงการจากไปและการพบกันใหม่ ความเศร้าโศก และความสุข ซึ่งอารมณ์ต่าง ๆ ของเพลงนั้นจะแตกต่างกันไปตามเนื้อร้องและทำนองที่ใช้ ซึ่งในส่วนของเวอร์ชั่นของ BTS นั้น จะมีความสนุกสนานทั้งทำนอง จังหวะและท่าเต้น รวมถึงเมื่อมีการแสดงบนเวทีในงานประกาศรางวัล BTS จะมีการนำเอาการแสดงพื้นบ้านของเกาหลีเข้ามาร่วมด้วย

การแสดงเพลง Arirang ในงาน KCON 2016 France×M COUNTDOWN

        การส่งเสริมให้ผู้คนเกิดการรักตัวเอง หรือ Love Myself เป็นการสื่อสารออกมาผ่านบทเพลงในอัลบั้ม Love Yourself: Her เพื่อให้เกิดความรัก และเคารพในตนเองก่อนที่จะไปรักผู้อื่น ต้องเป็นคนที่รู้จักให้อภัย และรักตัวเองให้มากขึ้น เพราะตัวเราในเมื่อวาน ตัวเราในวันนี้ ก็คือตัวเราในวันพรุ่งนี้ นำเอาสิ่งที่เรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่ผ่านมาแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น และมีการนำหลักจิตวิทยาในทฤษฎีจิตวิทยาของ คาร์ล จุง ในหนังสือ Jung’s Map of the Soul (1998) ที่มีการกล่าวถึง EGO และจิตใต้สำนึก โดยจะมีการเน้นไปที่ Persona เป็นพิเศษ ซึ่ง Persona แปลว่าหน้ากากที่นักแสดงสวมใส่ขึ้นแสดงในภาษาละติน ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า พวกเราทุกคนล้วนสวมหน้ากากเวลาเราออกสู่สาธารณะ มันเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสัตว์สังคม (Candy, 2562) โดย BTS ได้ถ่ายทอดหลักจิตวิทยานี้ออกมาผ่านผลงานเพลงในอัลบั้ม MAP OF THE SOUL 7 ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลยคือ Intro : Persona, Interlude : Shadow, Jamais Vu, Outro : Ego  ที่เนื้อหาในบทเพลงจะเน้นไปถึงอัตลักษณ์ของตัวตนในแต่ละรูปแบบ ในส่วนของเพลงที่เป็นให้กำลังใจนั้น ได้แก่ เพลง 2!3! , Love myself, Wake up, You never walk alone, Magic shopmikrokosmos, 00:00 (Zero O’Clock)
            นอกจากนี้ BTS ได้มีส่วนร่วมในการขับคลื่อนทางสังคมในหลายประเด็น ทั้งการจัดทำแคมเปญ การออกมาแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ และการบริจาค กล่าวคือ ได้มีการจัดทำแคมเปญ END violence campaign เป็นแคมเปญที่ BTS ร่วมมือกับกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กและวัยรุ่นทั่วโลก หวังจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นด้วยดนตรี โดยปรากฏออกมาในผลงานในอัลบั้ม Love Yourself: Her ในปี 2018 ซึ่งในการร่วมมือกันในแคมเปญในครั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งกองทุน love myself โดยได้มีการกล่าวสุนทรพจน์อย่างเป็นทางการ ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในนิวยอร์ก โดยคิมนัมจุน ซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้ที่สนใจเข้าร่วมแคมเปญ 'LOVE MYSELF' ได้โดยใช้แฮชแท็ก #BTSLoveMyself บนโซเชียลมีเดียส่วนตัวและแชร์เรื่องราวของตนได้เลยทันที
           โดยมีประโยคส่วนหนึ่งจากการกล่าวสุนทรพจน์ของคิมนัมจุน ที่กล่าวว่า "……I’m Kim Nam Jun, RM of BTS. I’m a hip-hop idol and an artist from a small town in Korea. Like most people, I made many mistakes in my life.I have many faults and I have many more fears, but I am going to embrace myself as hard as I can, and I’m starting to love myself, little by little. "What is your name? Speak Yourself!" แปลว่า “…..ผมชื่อ คิมนัมจุน RM แห่ง BTS ผมเป็นไอดอล และเป็นศิลปินจากเมืองเล็ก ๆ ในเกาหลี ผมก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่ ผมเคยทำสิ่งที่ผิดพลาดมากมายในชีวิต ตัวผมมีข้อผิดพลาด และความหวาดกลัวมากมาย แต่ผมจะโอบกอดตัวเองเอาไว้ และเรียนรู้ที่จะรักตัวเองมากขึ้นทีละนิด ๆ คุณชื่ออะไร เล่าเรื่องของคุณสิ” โดยการกล่าวสุนพจน์ในครั้งนี้นั้นได้แพร่หลายไปอย่างมากผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งได้กระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับฟังได้กลับมาฉุกคิดว่า ตนมีความรักในตัวเอง มีความเคารพในตัวเองมากพอหรือไม่

                                ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=oTe4f-bBEKg



ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=9mwRYgMmSGE

          การมีส่วนร่วมใน Black Lives Matter โดยการบริจาคเงินเป็นจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ ( 30 ล้านบาท) ซึ่งการบริจาคเงินในครั้งนี้เป็นการบริจาค ในระยะแรกไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลออกมา แต่ได้เปิดเผยข้อมูลออกมาในภายหลัง ซึ่งอาร์มี่ (Army) เป็นกลุ่มแฟนคลับของวง BTS ได้ทราบถึงการบริจาคในครั้งนี้ จึงได้ระดมทุนกันเพื่อบริจาคเป็นจำนวนเงิน 2 ล้านดอลลาร์ ( 60 ล้านบาท) จะเห็นได้ว่าการออกมามีส่วนร่วมทางสังคมของวง BTS นั้นได้สร้างหรือจุดประกายความคิดให้คนในสังคมบางส่วนนั้นได้ออกมาตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมแล้วร่วมกันพยายามแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมโลกให้บรรเทาลงได้บ้าง ซึ่งได้มีการสัมภาษณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจพูดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ และได้รับคำตอบจาก BTS โดยจินกล่าวว่า ตอนที่เราอยู่ต่างประเทศหรือในสถานการณ์อื่นๆ เราก็ถูกอคติเช่นกันเรารู้สึกว่าไม่ควรทนต่ออคติ มันไม่ควรมีอยู่จริงๆ เราเริ่มคุยกันว่าเราจะช่วยอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคหรืออย่างอื่น นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสนทนา เพียงแค่พยายามดูว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพยายามบรรเทาอคตินี้” (Rebecca Davis, 2020)

            Stop Asian Hate เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ที่ชาวตะวันตกมองว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศในเอเชีย จึงทำให้เกิดการเกลียดชังชาวเอเชีย จนนำไปสู่การทำร้ายร่างกายและการใช้ความรุนแรงต่อชาวเอเชียอยู่หลายกรณี จนเกิดกระแสรณรงค์หยุดสร้างความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย ด้วยการติด #StopAsianHate ในวันที่ 17 มี.ค. 2564 จนขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ของโลก และ “BTS เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ร่วมขับเคลื่อนการรณรงค์หยุดสร้างความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 BTS ได้ออกแถลงการณ์ทั้งฉบับภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษผ่านโลกทวิตเตอร์ พร้อมติด #StopAsianHate และ #StopAAPIHate เพื่อให้ยุติการสร้างความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย ซึ่งในแถลงการณ์นั้น BTS ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์กราดยิงร้านสปาในเมืองแอตแลนตาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากประเด็นความเกลียดชัง รวมถึง BTS ยังได้แชร์ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติในฐานะชาวเอเชีย (โพสต์ทูเดย์, 2564)
             การเป็นผู้แทนประธานาธิบดีพิเศษสำหรับคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรม  โดยในวันที่ 14 กันยายน 2564 วง BTS เข้าพบประธานาธิบดี มุนแจอิน เพื่อรับการแต่งตั้งในตำแหน่งผู้แทนประธานาธิบดีพิเศษสำหรับคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรม(Special Presidential Envoy for Future Generations and Culture) เป็นการแต่งตั้งทูตพิเศษ และในวันที่ 20 กันยายน 2021 วง BTS ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงาน Sustainable Development Goals Moment (SDG Moment) การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 ที่ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในการกล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนี้ได้มีการแสดงเพลง Permission To Dance อีกด้วย 








          อาจกล่าวได้ว่าวง BTS นั้นคือสัญลักษณ์แห่งการเป็นผู้นำของคนรุ่นใหม่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีความตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม รู้จักที่จะหยิบยกประเด็นทางสังคมที่มีความละเอียดอ่อน แสดงให้เห็นว่าเสียงที่เปล่งออกมานั้นมีคุณค่า มีความหมาย และในส่วนของการให้กำลังใจ และการใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาร่วมด้วยนั้นมีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้คนเกิดการเห็นคุณค่าในตนเอง Self-esteem และความตระหนักในตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรม K-pop นั้นได้กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ไม่เพียงแค่ในด้านดนตรี หรือการแสดงเท่านั้น แต่ได้แทรกซึมไปยังวัฒนธรรมอาหาร การแต่งกาย การแต่งหน้า รสนิยม และในการใช้ชีวิตประจำวัน

***หมายเหตุ การตีความหรือการหยิบยกประเด็นขึ้นมาเปรียบเทียบในการเขียนบทความในครั้งนี้เป็นทัศนคติ มุมมองและการสืบค้นข้อมูลของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ตีความโดยตรงจาก Bighit Entertainment ฉะนั้นจึงขอให้ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

อ้างอิง

ไทยรัฐออนไลน์. (2564). 7 หนุ่ม BTS ผู้มาพร้อมความรัก และปรากฏการณ์ K-Pop บุกโลกตะวันตก. สืบค้นเมื่อ        3 ตุลาคม 2564, จาก https://www.thairath.co.th/entertain/inter/2055617

ประชาชาติธุรกิจ. (2561). เราควรรักตัวเองในทุกเวอร์ชั่น” สปีชโดนใจของไอดอลเกาหลี BTS บนเวที UN.          สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2564, จาก https://www.prachachat.net/blogger-square/music- talk/news-226193

โพสต์ทูเดย์. (2564). ‘BTS’ ร่วมขับเคลื่อน #StopAsianHate ยุติความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย พร้อมแชร์    ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติในฐานะชาวเอเชีย. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2564, จาก            https://workpointtoday.com/bts-stop-asian-hate-02/

วอยซ์ออนไลน์. (2563). วง BTS ทำรายได้ให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เท่าไหร่สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 2564, จาก https://voicetv.co.th/read/es6OIgIhk

Bighit Music. (2021). Love myself. Retrieved October 3, 2021, from https://www.love- myself.org/eng/home/

Candy. (2562). BTS เจาะลึกหลักจิตวิทยาลงในอัลบั้ม MAP OF THE SOUL. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2564, จาก       https://candyclover.com/bts-jung-carl-map-of-the-soul/

Rebecca Davis. (2020). BTS on the Decision to Donate to Black Lives Matter: ‘Prejudice Should     Not Be Tolerated’. Retrieved October 3, 2021, from https://variety.com/2020/music/news/bts- black- lives-matter-donation-1234789434/

Suganotes. (2021). A look at #Suga's song "518-062" and the history behind it. Retrieved October 3, 2021, from https://www.allkpop.com/article/2021/05/a-look-at-sugas-song-518-062-and-the-history-behind-it

The United Nations Educational. (2013). Arirang folk song in the Democratic People’s Republic       of Korea. Retrieved October 3, 2021, from https://ich.unesco.org/en/RL/arirang-folk-song-in-the-democratic-peoples-republic-of-korea-00914

Unicef. (2018). "We have learned to love ourselves, so now I urge you to 'speak yourself.'”.      Retrieved October 3, 2021, from https://www.unicef.org/press-releases/we-have-learned-love-ourselves-so-now-i-urge-you-speak-yourself


Comments

Popular posts from this blog

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The code of Hammurabi) จารึกกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก

ศิลปะบาโรก (baroque) ความงามที่ยิ่งใหญ่ของอารยธรรมสมัยใหม่