ศิลปะบาโรก (baroque) ความงามที่ยิ่งใหญ่ของอารยธรรมสมัยใหม่

 

ศิลปะบาโรก (baroque)
ความงามที่ยิ่งใหญ่ของอารยธรรมสมัยใหม่

โดย นภัสสร ชุมศรี

        การสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมนั้นมีหลายจุดประสงค์ในการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่และยุคสมัย โดยในสมัยยุคใหม่นั้นได้ก่อกำเนิดศิลปะบาโรก(baroque)ขึ้น แสดงความงามที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของการเมืองการปกครอง และศาสนา ซึ่งได้แพร่กระจายไปหลายพื้นที่ในยุโรป แสดงถึงเอกลักษณ์ของยุโรปอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมไปถึงได้สร้างคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกในยุคต่อมาเป็นอย่างมาก
       ศิลปะบาโรก คำว่า "บาโรก(baroque)" เป็นคำที่มาจากภาษาโปรตุเกส แปลว่า "ไข่มุกที่บิดเบี้ยว"มีสีสันที่สวยงาม ผิวของไข่มุกมีความแวววาว โดยความเป็นบาโรกนี้ได้ก่อกำเนิดขึ้นราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ประเทศอิตาลี ได้แผ่ขยายอิทธิพลศิลปะแบบบาโรกนี้ไปยังดินแดนอื่น อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส อีกทั้งศิลปะแบบบาโรกไม่ได้แผ่ขยายเพียงในยุโรปเท่านั้น แต่ไปถึงยังดินแดนในเอเชียอีกด้วย นั่นคือ โบสถ์ในประเทศฟิลิปปินส์ สร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 เช่นกัน เนื่องจากการเข้ามาล่าอาณานิคมของประเทศสเปน ประกอบด้วย  "โบสถ์ซานออกัสติน ในกรุงมะนิลา 
(San Agustin Church in Manila) โบสถ์ซานตามาเรีย ในซานตามาเรีย จังหวัดอิโลคอสซูร์  (Santa Maria Church in Ilocos Sur) โบสถ์ซานอกัสติน ในปาโออาย จังหวัดอิโลคอสนอร์เต (San Agustin Church in Paoay, Ilocos Norte)โบสถ์ซานโต โทมัส เดอวิลลานูวา ในไมอากาโอ จังหวัดอิโลอิโล (Sto. Tomas de Villanueva Church in Miagao, Iloilo)" (สถาบันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ, 2557)

        ลักษณะของศิลปะบาโรก เป็นศิลปะที่จะเน้นในความยิ่งใหญ่ ความอลังการ หรูหรา เมื่อใครพบเจอก็จะตะลึงในความงามนี้ มีรายละเอียดของศิลปะที่ลึกซึ้ง ซับซ้อน อ่อนไหว การแสดงออกทางอารมณ์ที่เด่นชัด โดยการสร้างศิลปะแบบบาโรกนั้นก็เป็นผลมาจากการที่คริสตจักรต้องการให้คริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก มีความยิ่งใหญ่เหนือนิกายใหม่ที่เกิดขึ้นมา นั่นก็คือ นิกายโปรเตสแตนต์ นำโดยมาติน ลูเธอร์ ซึ่งการสร้างศิลปะบาโรกนั้นได้เข้าไปสู่ราชวงศ์ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ซึ่งมีทุนทรัพย์ในการที่จะสร้างสรรค์ศิลปะนี้ขึ้นมา จึงทำให้ศิลปะแบบบาโรกนั้นยิ่งมีความเฟื่องฟูมากขึ้นไปอีกขั้น ในที่นี้จะแบ่งศิลปะแบบบาโรกออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย สถาปัตยกรรม ประติมากรรม ศิลปกรรม และดนตรี
        สถาปัตยกรรมแบบบาโรก ศิลปะแบบบาโรกนั้นในระยะแรกจะเป็นการสร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรม มักจะเป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะโถงสูง ประดับไปด้วยประติมากรรมและจิตกรรมแบบบาโรก อาทิ วิหารซุพเพอร์กา (Basilica di Superga) ประเทศอิตาลี, พระราชวังแวร์ซายส์ (Chateau de Versailles) และปราสาทเมซองส์ (Château de Maisons) ประเทศฝรั่งเศส,  พระราชวังแคทเธอรีน(
Catherine Palace) ประเทศรัสเซีย, โบสถ์วีส์ (Wies church) ประเทศเยอรมนี, Sant’Ignazio Church ในกรุงโรมประเทศอิตาลี ตัวอย่างสถาปัตยกรรมแบบบาโรก คือ
        พระราชวังแวร์ซายส์ (Chateau de Versailles) ประเทศฝรั่งเศส การสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ (Chateau de Versailles) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในช่วงระหว่าง คริสต์ศักราช 1661-1681 ที่มีพระประสงค์จะสร้างพระราชวังที่มีความยิ่งใหญ่ มีความโอ่อ่า เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่ง ความเจริญทางด้านศิลปะให้คนทั่วโลกได้เห็น ซึ่งมีสถาปนิกที่สำคัญในการสร้างพระราชวังครั้งนี้ คือ Louis Le Vau (หลุยส์ เลอ โว) สถาปนิกชื่อดังของฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ และ Jules-Hardouin-Mansart (ฌุลส์-อาร์ดูแอ็ง-มองซาต์) เข้ามารับช่วงต่อหลังจากที่หลุยส์ เลอ โว เสียชีวิตลง ซึ่งพระราชวังแวร์ซายส์นั้นเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงศิลปะบาโรกอย่างเห็นได้ชัดเจน

                    


                                                               พระราชวังแวร์ซาย (มุมสูง)
                                            ที่มา : https://www.chateauversailles.fr/photos

                     ห้องกระจก (Galerie des Glaces หรือ The Hall of Mirrors) ใน ระราชวังแวร์ซายส์

                                            ที่มา : https://www.chateauversailles.fr/photos

        โบสถ์เซนต์อิกนาซิโอ  หรือ Sant’Ignazio Church ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นโบสถ์ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก สร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศักราช 1626-1650 โบสถ์แห่งนี้มีบทบาทสำคัญในฐานะของวิทยาลัยโรมัน สำหรับการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นพระคาร์ดินัล (ตะลอนเที่ยว, 2559) ภายในวิหารจะมีโถงสูง ตกแต่งด้วยจิตรกรรมแบบบาโรกบนเพดาน และประติมากรรม

                            
                                                    โบสถ์เซนต์อิกนาซิโอ  ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี                                                                                                                                    ที่มา : shorturl.asia/r3tf9


ภาพจิตรกรรมปูนเปียก ชื่อ Triumph and Apotheosis of St.Ignatius (1691)
ใน 
Sant’Ignazio Church กรุงโรม ประเทศอิตาลี  โดย Andrea Pozzo (1642-1709)
ที่มา : shorturl.asia/YNwBZ

         ประติมากรรมแบบบาโรก ศิลปะแบบบาโรกในรูปแบบของประติมากรรมนั้นจะมีความอ่อนช้อย มีรายละเอียดที่ซับซ้อนของประติมากรรม มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่ชัดเจน โดยการสร้างประติมากรรมแบบบาโรกขึ้นมานั้นอาจใช้ตกแต่งในสถาปัตยกรรม อาทิ
        ประติมากรรม The Ecstasy of Saint Teresa 
ในโบสถ์ซันตามาเรียเดลลาวิตโตเรีย (santa maria della vittoria) กรุงโรม ประเทศอิตาลี สร้างเมื่อ คริสต์ศักราช 1647 - 1651 โดยจีอัน โลเรนโซ แบร์นินี (Gian Lorenzo Bernini) เป็นประติมากรรมที่แสดงออกถึงศิลปะแบบบาโรกอย่างเห็นได้ โดยแสดงกามเทพเอาลูกศรมาแทงที่หน้าอกของเทเรซ่า เป็นการแสดงถึงการเข้าถึงพระเจ้า ประติมากรรมนี้มีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเห็นได้ชัดเจน ที่ใบหน้าของเทเรซ่ามีความอิ่มเอมใจ 

                                    

                                            ประติมากรรม The Ecstasy of Saint Teresa
                    ใน
โบสถ์ซันตามาเรียเดลลาวิตโตเรีย (santa maria della vittoria) กรุงโรม ประเทศอิตาลี 
                                ที่มา : https://www.artble.com/artists/gian_lorenzo_
                                        bernini/sculpture/the_ecstasy_of_saint_theresa

ใบหน้าของเทเรซ่ามีความอิ่มเอมใจ
ที่มา : https://www.theartpostblog.com/en/ecstasy-saint-teresa-bernini/

           น้ำพุเทรวี่ (Trevi Fountain) เป็นสถาปัตยกรรมหินอ่อน แบบบาโรก โดยมีขนาดความสูงถึง 85 ฟุต  และความกว้างถึง 65 ฟุต ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี สร้างเมื่อคริสต์ศักราช 1732 เป็นผลงานการออกแบบโดยนิโคลา ซาลวิ (Nicola Salvi) และจูเซปเป ปานนินี (Giuseppe Pannini) เป็นลานน้ำพุและอนุสรณ์สถานที่จัดได้ว่าสวยงามและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยชื่อของน้ำพุเป็นชื่อที่ตั้งตามทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นจุดบรรจบของถนนสามสาย (“tre vie”) ได้แก่ Acqua Vergine, Aqua Virgo และสะพานส่งน้ำโรมันโบราณ (โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์, 2563) 


                                                
                                            น้ำพุเทรวี่ (Trevi Fountain) กรุงโรม ประเทศอิตาลี
                                        ที่มา : https://www.relaisfontanaditrevi.com/

        รูปปั้นครึ่งตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Buste de Louis XIV) โดยจีอัน โลเรนโซ แบร์นินี (Gian Lorenzo Bernini) เมื่อครั้งที่เบอร์นินี ถูกเชิญจากพรเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไปออกแบบพระราชวังแว์ซายส์ แต่การผลงานการอออกแบบพระราชวังของแบร์นินีก็ไม่ได้ถูกใช้สร้าง เนื่องจากมีความเป็นอิตาลีมากเกินไป จึงได้มีการสร้างประติมากรรมครึ่งตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อถวายแทน

         รูปปั้นครึ่งตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Buste de Louis XIV) ในพระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส

                                            ที่มา : https://www.chateauversailles.fr/photos

          จิตรกรรมแบบบาโรก จิตรกรมักจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบของการเล่าเรื่องราวผ่านภาพ กล่าวคือ ใน 1 ภาพนั้นจะประกอบไปด้วยหลายองค์ประกอบ แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของผู้คน และแสดงให้เห็นถึงสิ่งแวดล้อมในภาพอีกด้วย เมื่อมองภาพเพียงภาพเดียวก็จะสามารถทำความเข้าใจถึงเรื่องราวในภาพได้ และภาพเหล่านี้โดยส่วนมากจะถูกนำไปประดับไว้ในสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น ตัวอย่างผลงานจิตรกรรมแบบบาโรก อาทิ

            ภาพ The garden of love หรือ สวนแห่งความรัก โดยรูเบนส์ (Peter Paul Rubens) เมื่อคริสต์ศักราช 1577-1640 เป็นภาพรูเบนส์เฉลิมฉลองการแต่งงานของตนกับเฮเลน่า ภรรยาคนที่สอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหญิงสาวที่สวยที่สุดในแอนต์เวิร์ป ภาพจากงานฉลองนี้จะเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ผ่อนคลายในกลุ่มของคนจีบกันในสวนที่งดงาม มีคิวปิดรอบ ๆ ถือสัญลักษณ์ของความรักคู่สมรส รวมทั้งคู่ของนกพิราบ ส่วนบนด้านซ้ายขององค์ประกอบน้ำพุหรือประติมากรรม The Three Graces และ Venus nursing บ่งบอกความสุขในการสมรส ในขณะที่นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของเทพีจูโนผู้ที่ปกป้องการแต่งงาน (สาธวี  สระทองหน, 2559)

    
                                            ภาพ The garden of love หรือ สวนแห่งความรัก
                        ที่มา : https://www.museodelprado.es/en/the-collection/art-work/the-
                                garden-of-love/8c9e39be-c70c-403a-a386-e7609e7af236

          ภาพ  Las Meninas หรือลาส เมนินาส โดยดิเอโก เวลาสเกวซ (Diego Velázquez) เมื่อคริสต์ศักราช 1656 “แสดงเรื่องราวภายในราชสำนักสเปนในช่วงศตวรรษที่ 17” (รสลิน กาสต์, 2555)  

                                                         ภาพ  Las Meninas หรือลาส เมนินาส
                            ที่มา : https://www.museodelprado.es/en/the-collection/art-w

ork/las-meninas/9fdc7800-9ade-48b0-ab8b-edee94ea877f

ดนตรีแบบบาโรก หรือ Baroque music เป็นดนตรีคลาสสิค มีการผสมผสานดนตรีหลากหลายรูปแบบเข้าด้วย เป็นยุคที่มีความเจริญทางด้านตนตรีเป็นอย่างมาก มีการเริ่มใช้บรรไดเสียงเมเจอร์และไมเนอร์  และ "เครื่องดนตรีและบทเพลงที่ใช้ในยุคนี้จะใช้ Concerto Grosso บทเพลงจะเป็นบทเพลงโซนาตาและซิมโฟเนีย ดนตรีที่ใช้จะเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ได้แก่ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส และที่สำคัญใช้เปียโน ปี่และขลุ่ยในการบรรเลงเพลง ดนตรีบาโรกจะมีการแต่งเพลงในรูปแบบหลากหลายและใช้เครื่องดนตรที่ไม่ซำ้กัน มีคีตกวีที่สำคัญในการสร้างสรรค์ดนตรีแบบบาโรกขึ้นมา อาทิ Johan Sebastian Bach, George Frideric, Handel และ Antonio Vivaldi "(ใบพลู เดชคง, 2557)
   
                  
                                Baroque Music - Classical Music from the Baroque Period

        จะเห็นได้ว่าศิลปะแบบบาโรกที่แสดงออกผ่านผลงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม นั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกนั้นได้ใช้ศิลปะเป็นตัวกลางในการดึงดูดผู้คนให้กลับมานับถืออีกครั้ง ในส่วนของดนตรีนั้นก็จะมีการได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนบางส่วนกลายเป็นต้นแบบของดนตรีในสมัยปัจจุบัน
        ความงดงามของศิลปะในแต่ละรูปแบบ แต่ละยุคสมัยนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนคติของแต่ละบุคคล เราจึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าศิลปะรูปแบบใดที่มีความงดงามมากที่สุด แต่ละผลงานนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตน เป็นผลงานที่เกิดความสุนทรีของศิลปินแต่ละคน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการอบรมเลี้ยงดู ศาสนา ความเชื่อ และสิ่งแวดล้อมทางสังคม ฉะนั้นคนในสังคมย่อมได้สัมผัสกับงานศิลปะ มีงานศิลป์ที่ตนชื่นชอบอยู่แล้ว ฉะนั้นผู้อื่นก็ย่อมมีสิ่งที่ชอบเหมือนกัน เราจึงต้องเคารพและให้เกียรติในความชื่นชอบของคนอื่นเช่นกัน

 

อ้างอิง

คุณากร พันเทศ, เจษฎากรณ์ บุตรพรม และคณะ. (2561). ประวัติดนตรีตะวันตก ( ยุคบาโรก ) ( The Baroque Period : ค.ศ. 1600 - 1750 ). สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2564, จาก https://www.youtube.com/watch?v=_DxBUFGeMRg

ตะลอนเที่ยว. (2559). โบสถ์ Sant’Ignazio Church. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2564, จาก https://www.t alontiew.com/santignazio-church-rome/

ใบพลู เดชคง. (2557). Baroque Music ยุคดนตรีแห่งความหรูหรา. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2564, จาก https://wonderfularch.com/baroque-music/

สาธวี  สระทองหน. (2559). Peter Paul Rubens. สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564, จาก            https://pubhtml5.com/yunn/cejy/basic
สถาบันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ. (2557). มรดกโลกในฟิลิปปินส์ 2 : โบสถ์บาโรคแห่งฟิลิปปินส์. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2564, จาก 
http://aseannotes.blogspot.com/2014/08/2.html
รสลิน กาสต์. (2555). ข้อฉงนในภาพ “ลาส เมนินาส”(Las Meninas) และการหยิบยืมมาถ่ายทอดใหม่ของศิลปินรุ่นหลัง. สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564, จาก shorturl.asia/mHcLG 
Encyclopedia of old master painters. (n.d.). Andrea Pozzo. Retrieved September 13 2021,

from http://www.visual-arts-cork.com/old-masters/andrea-pozzo.htm

Comments

Popular posts from this blog

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The code of Hammurabi) จารึกกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก

BTS และพลังแห่งการขับเคลื่อนทางสังคมในยุคปัจจุบัน