กาฬโรค : โรคที่โลกต้องจารึก

 กาฬโรค : โรคที่โลกต้องจารึก

โดย นภัสสร ชุมศรี

         “COVID-19จะเป็นสิ่งที่ผู้คนจะศึกษาค้นคว้าไปอีกนานแสนนานอย่างแน่นอน จะเห็นได้จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกเผชิญกับโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่ คือ การระบาดของโรคโควิดที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมหาศาล มีหลายครอบครัวจะต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีหวนคืน สภาพจิตใจของผู้คนเกิดความย่ำแย่ ต้องเผชิญกับภาวะความกดดันทางสังคมที่มากมาย อันเนื่องมาจากการระบาดของโรค มีผลโดยตรงกับเศรษฐกิจ สังคม การดำรงชีวิตของผู้คนที่ต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม และเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตในช่วงยุคกลาง ผู้คนก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน นั่นคือ กาฬโรค (Plague) หรือมรณะดำ ("The Black Death")

           กาฬโรค (Plague) หรือมรณะดำ ("The Black Death") คือ โรคระบาดที่เกิดจากแบคทีเรียเยอร์ซีเนียเพสติส (Yersinia Pestis) ที่อาศัยอยู่ในสัตว์บางชนิด ซึ่งในการระบาดในยุคกลางนี้พบว่าอยู่ในหมัดที่อาศัยอยู่ในสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก เช่น หนู และกระรอก โดยอาการของโรคจะเป็นอาการอักเสบและปวดบวมที่ต่อมน้ำเหลือง บริเวณขาหนีบ และรักแร้ (มิเชล โรเบิร์ตส, 2563) หากรักษาไม่ทันจะเสียชีวิตภายใน 5-6 วัน หากได้รับการรักษาจะหายภายใน 10 วัน โดยสามารถแพร่ให้ผู้อื่นผ่านสารคัดหลั่งจากร่างกาย การสัมผัส และแพร่ทางอากาศได้ ซึ่งแหล่งที่มาของโรคนั้นยังไม่มีความแน่ชัดเจนมากนัก การระบาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ซึ่งก่อนที่จะมีการระบาดครั้งใหญ่ในยุคกลางนั้น ได้มีการระบาดช่วงที่ 1 คือ การระบาดตั้งแต่ยุคกลางตอนต้น ในสมัยจักรวรรดิโรมันตะวันออกคริสต์ศตวรรษที่ 6 ในระหว่างปี ค.ศ. 541-542 เป็นการระบาดที่เรียกกันว่า "กาฬโรคแห่งจัสติเนียน" (Plague of Justinian) คาดกันว่ากาฬโรคซึ่งมีต้นกำเนิดในจีนแพร่กระจายสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิลจากธัญพืชที่นำเข้าจากอียิปต์ และมีหนูและหมัดเป็นจำนวนมากจึงระบาดอย่างรวดเร็ว ในการระบาดระลอกนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 40-60% ของประชากรในขณะนั้น (ไทยโพสต์, 2563) และในยุคกลาง ช่วง ค.ศ.1348-1350 (คริสต์ศตวรรษที่ 14-19) กาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "Great  Pestilence"  จึงได้รับการขนานนามว่า “Black Death” คาดว่าเริ่มต้นจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและประเทศจีนระบาดไปตลอดเส้นทางสายไหม (Silk Road) กระจายไปทั่วเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา และอีกหนึ่งเหตุผลการแพร่ระบาดในยุโรปนั้น คาดว่าในปี 1347 เริ่มต้นจากกองเรือสินค้าที่อพยพมาจากเมืองเคฟฟา (Caffa) มาที่ท่าเรือเมซซิน่า (Messina) เมืองชิชิลี ประเทศอิตาลี โดยเมื่อขึ้นไปในเรือก็พบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตแล้วทำให้กาฬโรคแพร่ไปอย่างรวดเร็วทั่วทั่วยุโรป ทั้งในอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน สแกนดิเนเวีย  รัสเซีย ซึ่งกาฬโรคนี้ได้คร่าชีวิตคนในยุคกลางเป็นจำนวนมากถึง 17-28 ล้านคน และมีการประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคทั่วโลกทั้งในยุโรปและเอเชียจะประมาณ 75-200 ล้านคน (ชัชพล เกียรติขจรธาดา, 2563)นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ 


 ภาพแผนที่การระบาดใหญ่ครั้งที่สองของกาฬโรคในยุโรป
The second pandemic of the Black Death in Europe (1347–1351) 
     ที่มา : https://www.britannica.com/event/Black-Death

             ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการระบาดนี้ คือ หมอรักษากาฬโรค หรือหมออีกา (Plague Doctor) ที่เรียกเช่นนี้ เนื่องจากใส่หน้ากากที่มีลักษณะเหมือนอีกา ซึ่งภายใต้หน้ากากนั้นจะมีสมุนไพร เช่น ผงสกัดจากพิษงู อบเชย หรือยางไม้หอม น้ำผึ้ง เป็นต้น โดยเชื่อว่ามันจะดักเอาอากาศที่เป็นพิษ (ที่เชื่อว่าเป็นต้นตอของโรค) และป้องกันสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยก่อนที่หมอจะสูดลมหายใจเข้าไป การแต่งกายของหมอที่สวมใส่ชุดคลุมสีดำเคลือบด้วยขี้ผึ้ง สวมทับกางเกงขายาวที่เชื่อมกับรองเท้าบู๊ต เสื้อด้านในเองก็ต้องใส่ทับใน ถุงมือปิดมิดชิด ส่วนหัวมีฮู้ดและหมวกใส่ทับจากหนังแกะ หน้ากากคล้ายนกที่มีแว่นป้องกันดวงตา พร้อมถือไม้เท้า  (วรกานต์ เจ, 2563) ซึ่งการรักษากาฬโรคในขณะนั้นไม่ได้มีแนวทางการรักษาโรคที่เป็นแนวปฏิบัติชัดเจน เนื่องจากการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า จะเป็นการรักษาตามอาการ และตามความเชื่อ ความสามารถของแพทย์คนนั้น 

 

ภาพ coat of arms with portrait and protective costume against plague
โดย Theodor Zwinger III (1658-1724) 
ที่มา : https://wellcomecollection.org/works/mr4znzgp

ภาพ Doctor Schnabel von Rom โดย Paulus Fürst (Nuremberg, Germany)
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ British Museum กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ที่มา : https://www.britishmuseum.org/collection/object/P_1876-0510-512

        เผชิญภาวะวิกฤต กล่าวคือ เกิดการขาดแคลนแพทย์ เนื่องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขณะนั้นไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ถือได้ว่าแพทย์เป็นคนที่สำคัญเป็นอย่างมากในยุคนั้น  การขาดแคลนอาหาร เนื่องจากผู้คนไม่สามารถออกไปทำการเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตในการบริโภคได้เช่นดังเดิม ทำให้ผลผลิตขาดแคลนและราคาสูง นำไปสู่ภาวะอดอยาก เกิดการปล้นสะดม เศรษฐกิจในขณะนั้นถือได้ว่ามีความย่ำแย่เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ในสมัยยุคกลางนี้ผู้คนยังไม่มีความรู้ในด้านชีววิทยา แบคทีเรีย จึงมีชนบางกลุ่มเชื่อว่าการระบาดครั้งใหญ่นี่เป็นผลมาจากประสงค์ของพระเจ้า เป็นการลงโทษจากพระเจ้า และพยายามที่จะยึดโยงไปสู่ความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนา จนนำไปสู่การกระทำต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะทำให้หายจากโรค เช่น การเฆี่ยนตีตัวเองในที่สาธารณะ และการลงโทษคนที่มีความเชื่อต่างจากตน

          แพะผู้รับบาปที่ไม่ได้ก่อ จากเหตุการณ์การระบาดครั้งยิ่งใหญ่นี้ไม่เพียงแต่สร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชนทั่วไปที่ได้เผชิญกับโรคระบาดนี้ แต่ได้สร้างความสูญเสียให้กับชาวยิวเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ชาวยิวถูกสังคมกล่าวหาว่าเป็นผู้วางยา หรือแพร่เชื้อลงในบ่อน้ำ (Robert K. D. Peterson., n.d.) จึงทำให้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่นี้ขึ้น เนื่องจากการที่ชาวยิวมีผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตน้อย จึงทำให้เพิ่มความสงสัยจากสังคม กอปรกับชาวยิวเป็นผู้ที่ถูกกีดกันจากสังคมชาวคริสต์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วเนื่องจากมีวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน จึงทำให้ชาวยิวถูกสังหารหมู่จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ในปี 1348 และ 1349 ถือได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่มนุษย์กระทำต่อกัน อันเป็นผลมาจากความเชื่อที่แตกต่างกัน ความกลัว และความเข้าใจผิด


ภาพ The Triumph of Death (1562 - 1563. Oil on panel.)
ที่มา : https://www.museodelprado.es/en/the-collection/art-work/the-triumph-of-death/d3d82b0b-9bf2-4082-ab04-66ed53196ccc?fbclid=IwAR2e7Q7LNot0SLjHdqT6Ft_PZ4VPFsDUTJCfWzLDahbj2P7DlqNwLhgAzW

                  จากภาพ The Triumph of Death (1562-1563) วาดโดย Pieter Bruegel the Elder จิตรกรยุคเฟลมมิชเรอเนซองซ์ ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Museo del Prado กรุงมาดริด ประเทศสเปน ภาพวาดแสดงให้เห็นถึงความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากการล้มป่วยด้วยกาฬโรคเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นทั้งคนรวยและคนจน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ชาวนา กษัตริย์บาทหลวงที่ถูกกองทัพโครงกระดูกรุมเร้า ผู้คนเผชิญกับการตายหลากหลายรูปแบบ และการตายนั้นไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ซึ่งภาพวาดที่ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนี้ได้เป็นสิ่งที่ทำให้อนุชนได้กลับมาหวนคิดมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับคำว่าที่ว่า นอกจากศิลปะจะมีไว้เพื่อสุนทรียะ ศิลปะยังเป็นเครื่องมือชั้นดีในการบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์” (ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, ..ป)

              บทเรียนที่โลกต้องจารึกโรคไว้ในประวัติศาสตร์ การเกิดโรคระบาดนั้นไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียให้กับชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินเท่านั้น แต่ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจครั้งยิ่งใหญ่ให้กับมวลมนุษยชาติในแต่ละยุคสมัยเป็นอย่างมาก นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันผู้คนต่างต้องการการมีชีวิตรอดบนโลกแห่งความไม่แน่นอนของชีวิต ได้มีการคิดค้น ศึกษา พัฒนาการแพทย์อยู่เสมอมา เพื่อหาทางรับมือและเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่พร้อมจะเกิดโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่อยู่ตลอดเวลา



อ้างอิง

ชัชพล เกียรติขจรธาดา. (2563). The Black Death ตอนที่ 2สืบค้นเมื่อ 22                                               สิงหาคม 2564, จาก https://www.youtube.com/watch?v=Id-fCtyIhSw

ไทยโพสต์. (2563). ย้อนอดีต 'Great Mortality' โรคระบาดจากจีนสู่ยุโรป 25 ล้านคนต้องตายไหน. สืบค้นเมื่อ 22    สิงหาคม 2564, จาก https://www.thaipost.net/main/detail/56164

ตามพงศ์ เหลืองบริบูรณ์. (2562). กาฬโรค. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2564, จาก https://www.nsm.or.th/other-service/1757-online-science/knowledge-inventory/sci-article/science-article-nsm/4377-black-death.html

บอทส์. (2563). งานศิลป์แห่งโรคระบาด. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2564, จาก shorturl.asia/QLZTy

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. (..ป). ‘ศิลปะเมื่อคราห่าลง’ เบื้องหลังภาพวาดดังที่บันทึกโรคระบาดในประวัติศาสตร์   ของ มนุษย์. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2564, จาก https://adaymagazine.com/art-in-the-time-of-plague

มิเชล โรเบิร์ตส. (2563). กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองคืออะไร เสี่ยงเกิดการระบาดใหญ่แค่ไหน. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2564, จาก https://www.bbc.com/thai/features-53324928

วรกานต์ เจ. (2563). ใต้ปากแหลมนั้น เอาไว้ทำอะไรรู้จักชุด ‘Plague Doctors’ สัญลักษณ์ความน่ากลัวจาก      กาฬมรณะ. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2564, จาก https://thematter.co/science-tech/plague-   doctors-mask/131704

สุทัศน์ ยกส้าน. (2551). ตำนานการระบาดของกาฬโรคในยุโรปยุคกลาง (จบ). สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2564, จาก https://mgronline.com/science/detail/9510000085957

ไอยฤทธิ์ ไทยพิสุทธิกุล. (2553). กาฬโรค โรคอุบัติซ้ำ. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2564, จาก https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/2954/6-p.%20Iyarit.pdf?sequence=2&isAllowed=y

HISTORY. (2020). Black Death. Retrieved August 22, 2021, https://www.history.com/topics/middle-  ages/black-deathhttps://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/2954/6-p.%20Iyarit.pdf?sequence=2&isAllowed=y

Radars Man. (2563). ศึกษาบทเรียนจาก “กาฬโรค” โรคระบาดที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้น. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2564, จาก shorturl.asia/lkFDY

Robert K. D. Peterson. (n.d.). Persecution of the Jews during the Great Plagues of the 14th   Century. Retrieved August 22, 2021, from https://www.montana.edu/historybug/yersiniaessays/pariera-dinkins.html







Comments

Popular posts from this blog

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The code of Hammurabi) จารึกกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก

BTS และพลังแห่งการขับเคลื่อนทางสังคมในยุคปัจจุบัน

ศิลปะบาโรก (baroque) ความงามที่ยิ่งใหญ่ของอารยธรรมสมัยใหม่